คนไทยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นคำถามเกี่ยวกับการซื้อรถยนต์ว่า “มีเงินเท่านั้นเท่านี้จะซื้อรถอะไรดี” ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นมีรถยนต์ที่ผิดขั้นตอนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่จะตัดสินใจมีรถยนต์เอาไว้ใช้งานสักคัน ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกรถให้ถูกกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการใช้งานเป็นสำคัญ คำถามที่ควรถามหรือข้อมูลที่ต้องหาจึงควรเป็น “ต้องการมีรถยนต์เอาไว้ใช้ขับไปทำงานระยะทางวันละ 100 ถึง 150 กม. ปรกตินั่งเพียงแค่ / คน ควรจะซื้อรถอะไรดี”
การเริ่มต้นตั้งคำถามหรือหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่ผิดพลาด ทำให้ได้รถยนต์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ตามมาด้วยความไม่พึงพอใจในรถยนต์ที่ได้จ่ายเงินซื้อมา หรือถึงขั้นที่ต้องมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นเกินความจำเป็นสำหรับรถยนต์คันนั้น และบางครั้งยังส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถยนต์ที่ไม่เหมาะสมกับงานได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่นคนที่ต้องการรถยนต์ไว้ใช้งานเดินทางไกลระหว่างจังหวัดบ่อยๆเพราะมีอาชีพเป็นพนักงานขายของ อีกทั้งเส้นทางที่ใช้ประจำหรือทางเข้าบ้านที่อยู่อาศัยเป็นทางขรุขระมีหลุมบ่อมาก แต่ไปซื้อรถยนต์ที่มีขนาดเล็กเพียงเพราะเห็นว่ามีราคาถูก มีขีดความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือนไหว และมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงที่พอเหมาะพอควร เมื่อซื้อมาแล้วจึงพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีค่าซ่อมบำรุงจากการสึกหรอสูงกว่ารถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งจากกรณีตัวอย่างที่ยกมานี้หากตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือซื้อรถกระบะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพการใช้งานมากกว่า แต่ในเมื่องบประมาณมีจำกัดก็หันไปหาซื้อรถยนต์มือสองสภาพดีที่มีราคาไม่แพงยังดีเสียกว่า
นอกเหนือไปจากนั้นระหว่างที่ดำเนินการซื้อรถยนต์หรือรับมอบรถยนต์ที่ตัดสินใจซื้อไปใช้งาน คนไทยจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่ไม่ค่อยยอมศึกษาวิธีการใช้งานรถและอุปกรณ์ประจำรถยนต์อย่างละเอียด เพราะคิดว่าตนเอง “ขับรถเป็น” และขับรถมานานแล้ว จึงสามารถขับรถยนต์คันไหนก็ได้เพราะเป็นรถยนต์เหมือนๆ กัน
แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยียานยนต์ปัจจุบันนี้มีหลากหลาย ทำให้รถยนต์แต่ละยี่ห้อหรือแม้แต่ยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่น ก็มีอุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป หรือมีวิธีการขับและวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขับรถยนต์แต่ละคันต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ จึงจะเกิดประโยชน์ได้สมรรถนะจากรถยนต์และอุปกรณ์นั้นๆ เต็มที่ และยังเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าเพียงแค่ปัญหาจากการใช้เกียร์เพียงอย่างเดียว ก็มีคำถามจากผู้ขับรถเกิดขึ้นบ่อยมาก และบางคำถามก็เป็นคำถามที่ถามซ้ำกันไปมานานนับสิบปีมาแล้ว เช่น เกียร์โอเวอร์ไดรฟ์จะใช้อย่างไรดี, สามารถโยกเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ที่คันเกียร์ได้เลยหรือไม่, ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เมื่อถึงระยะทางกี่กิโลเมตร, เมื่อต้องจอดรถติดไฟแดงควรโยกเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง N หรือ P หรือจะอยู่ที่ตำแหน่ง D จึงจะถูกต้อง เป็นต้น
ซึ่งคำตอบทั้งหมดนั้นมีอยู่ในสมุดคู่มือประจำรถแล้วทั้งสิ้น และรถยนต์บางชิดบางประเภทก็มีคำแนะนำในการใช้เกียร์ที่ต่างกันออกไป และบางรุ่นก็เป็นคำแนะนำที่ใช้เฉพาะรถยนต์แบบและรุ่นนั้นๆ เท่านั้น เช่นการใช้เกียร์ B ในรถยนต์แบบไฮบริด เป็นต้น
ปัจจุบันนี้มีรถยนต์จำนวนมากใช้เกียร์อัตโนมัติแบบอัตราทดแปรผัน หรือที่เรียกกันว่าเกียร์แบบ CVT โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรถยนต์ขนาดเล็กที่มีเครื่องยนต์ความจุไม่มากนัก หรือบางยี่ห้อก็ใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันแบบ CVT ในรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ความจุสูงๆ ด้วยเหมือนกัน
ซึ่งด้วยสภาพทางกายภาพของเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันแบบ CVT ถูกผลิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดน้ำหนักของระบบเกียร์ ต้องการลดอาการกระตุกขณะเปลี่ยนอัตราทด และต้องการลดเสียงดังระหว่างการเปลี่ยนอัตราทดด้วย จึงทำให้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT มีชิ้นส่วนน้อยและมีน้ำหนักเบา ตัวถ่ายทอดกำลังจึงทำการโดยผ่านสายพาน
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสายพานชนิดพิเศษหรือสายพานที่มีส่วนผสมของโลหะที่มีความคงทนสูงอยู่แล้วก็ตาม แต่หากต้องการให้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT มีอายุการใช้งานยาวนาน ก็ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอัตราทดหรือการออกตัวรถแบบกระชากแรงๆจนเกิดแรงกระตุกสูงๆ แม้ว่าในรถยนต์รุ่นนั้นๆอาจจะมีระบบให้ผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ได้ด้วยตนเองตามใจชอบก็ตาม ผู้ขับที่ต้องการยืดอายุการใช้งานของเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันแบบ CVT ให้นานมากที่สุดเท่าที่จะนานได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถแบบ “ลากเกียร์” และแบบ “เชนจ์เกียร์ด้วยตนเอง” ด้วย
ค่าซ่อมเกียร์อัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นชนิดใดล้วนแต่มีราคาแพง ดังนั้นหากใช้เกียร์ผิดวิธี, ผิดวัตถุประสงค์ของผู้ผลิต ก็จะทำให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการซ่อมเกียร์โดยใช่เหตุ